การสร้างคำ
การสร้างคำ คือ การรวมหน่วยคำตั้งแต่
๒ หน่วยขึ้นไปเข้าเป็นคำคำเดียว
หน่วยคำที่นำมารวมกันมีทั้งที่เป็นคำคำเดียวกันและต่างชนิดกัน ดังนี้
๑. คำที่สร้างขึ้นด้วยหน่วยคำที่มีความหมายแตกต่างกัน
เรียกว่าคำประสม
๒. คำที่สร้างขึ้นด้วยหน่วยคำเติม เรียกว่าคำประสาน
๓. คำที่สร้างขึ้นด้วยหน่วยคำที่มีความหมายเหมือนกัน
ใกล้เคียงกันหรือตรงกันข้ามกันเรียกว่าคำซ้อน
๔. คำที่สร้างขึ้นด้วยหน่วยคำซ้ำกันเรียกว่า คำซ้ำ
๕. คำที่สร้างขึ้นด้วยหน่วยคำภาษาบาลีและสันสกฤตเรียกว่า
คำสมาส
คำประสม
คำประสม หมายถึงคำที่เกิดจากการนำหน่วยคำอิสระที่มีความหมายต่างกันอย่างน้อย
๒ หน่วยมารวมกัน เกิดเป็นคำใหม่คำหนึ่ง มีความหมายใหม่ คำประสมมีลักษณะดังนี้
๑. คำประสมเป็นคำที่มีความหมายใหม่
ต่างจากความหมายที่เป็นผลรวมของหน่วยคำที่มารวมกัน
แต่มักมีเค้าความหมายของหน่วยคำเดิมอยู่ เช่น
น้ำแข็ง เป็นคำประสมมีความหมายว่า
“น้ำที่เป็นก้อนเพราะถูกความเย็นจัด”
เป็นความหมายใหม่ที่มีเค้าความหมายเดิมของหน่วยคำ
น้ำ และ แข็ง
หนังสือพิมพ์ เป็นคำประสมมีความหมายว่า
“สิ่งพิมพ์ที่เสนอข่าวสารและความเห็นแก่ประชาชน
มักออกเป็นรายวัน” เป็นความหมายใหม่ที่มีเค้าความหมายเดิมของหน่วยคำ
หนังสือ และพิมพ์
๒. คำประสมจะแทรกคำใด ๆ
ลงระหว่างหน่วยคำที่มารวมกันนั้นไม่ได้ ถ้าสามารถแทรกคำอื่นลงไปได้
คำที่รวมกันนั้นจะไม่ใช่คำประสม เช่น
ลูกช้างเดินตามแม่ช้าง ข้อความว่า ลูกช้าง แปลว่า “ลูกของช้าง” สามารถแทรกคำว่า ของ ระหว่างลูกกับช้างเป็น
ลูกของช้างได้ ดังนั้น ลูกช้างในประโยคนี้จึงไม่ใช่คำประสม
เจ้าแม่ช่วยลูกช้างด้วย คำว่า “ลูกช้าง” เป็นคำสรรพนามแทนตัวผู้พูด
เมื่อพูดกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์” ไม่สามารถแทรกคำใด ๆลงไประหว่างคำลูก กับช้างได้
ลูกช้างในประโยคนี้จึงเป็นคำประสม
๓. คำประสมเป็นคำคำเดียว
หน่วยคำที่เป็นส่วนประกอบของคำประสมไม่สามารถย้ายที่หรือสลับที่ได้ เช่น
เขานั่งกินที่ ไม่สามารถย้ายคำว่า กิน หรือ ที่ ไปไว้ที่อื่นได้ คำว่า
กินที่ จึงเป็นคำประสม
๔. คำประสมจะออกเสียงต่อเนื่องกันไปโดยไม่หยุดหรือเว้นจังหวะระหว่างหน่วยคำที่เป็นส่วนประกอบ
เช่น
กาแฟเย็น ถ้าออกเสียงต่อเนื่องกันไป
หมายถึง “กาแฟใส่นมใส่น้ำแข็ง” เป็นคำประสม ถ้ามีช่วงเว้นจังหวะระหว่าง กาแฟ กับ เย็น
หมายถึง “กาแฟร้อนที่ทิ้งไว้จนเย็น” เป็นประโยค
๕. คำประสมบางคำไม่มีความสัมพันธ์ทางวากยสัมพันธ์ระหว่างหน่วยคำที่เป็นส่วนประกอบ
เช่น
กินน้ำ ไม่เป็นคำประสม เพราะหน่วยคำ กิน กับน้ำ
มีความสัมพันธ์ทางวากยสัมพันธ์แบบกริยากับกรรม
กินใจ เป็นคำประสม หน่วยคำว่า กิน กับ ใจ
ไม่มีความสัมพันธ์ทางวากยสัมพันธ์
ส่วนประกอบของคำประสม
หน่วยคำที่มารวมกันเป็นคำประสมอาจจะเป็นคำนาม คำกริยา
คำจำนวนนับ คำลำดับที่ หรือคำบุพบท เมื่อนำคำชนิดนั้น ๆมาประกอบกันแล้ว
ส่วนใหญ่จะได้คำประสมที่เป็นคำนามหรือคำกริยา ดังตัวอย่าง
คำประสมที่เป็นนาม
๑. นาม + นาม
วัวนม
วัวพันธุ์ที่เลี้ยงไว้เพื่อรีดนม
หูช้าง
กระจกติดข้างรถยนต์เป็นรูปคล้ายหูของช้าง
สำหรับเปิดรับลม
หมูกระทะ
ชื่ออาหารประเภทหนึ่ง
รถไฟฟ้า
รถไฟที่แล่นบนทางยกระดับ
๒. นาม + ลักษณนาม
น้ำแข็งก้อน
น้ำแข็งชนิดที่ทำเป็นก้อนเล็ก ๆ
บะหมี่ซอง
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่บรรจุในซอง
๓. นาม + กริยา
มือถือ
โทรศัพท์ที่ติดตัวไปได้
โทรศัพท์เคลื่อนที่
กล่องดำ
กล่องบรรจุข้อมูลเกี่ยวกับการบินในเครื่องบิน
๔. นาม + กริยา + นาม
บัตรเติมเงิน
บัตรโทรศัพท์ที่ใช้ชำระค่าโทรศัพท์มือถือล่วงหน้า
ใช้โทรศัพท์ได้
ตามมูลค่าของบัตร
ภายในเวลาที่กำหนด
แปรงสีฟัน
แปรงที่ใช้สำหรับทำความสะอาดฟัน
๕. นาม + กริยา + กริยา
สารกันบูด
สารเคมีที่ใช้ผสมอาหารเพื่อให้เก็บได้นาน
บ้านจัดสรร
บ้านซึ่งรัฐหรือเอกชนสร้างขายเงินผ่อน
๖. นาม + บุพบท + นาม
รถใต้ดิน
รถไฟที่แล่นอยู่ในดิน
๗. กริยา + กริยา
กันชน
ส่วนของรถยนต์ที่อยู่หน้าและท้ายรถ
ป้องกันไม่ให้
รถเกิดความเสียหายเวลารถชน
ห่อหมก
ชื่ออาหาร
ใช้เนื้อปลาผสมกับน้ำพริกและกะทิกวนให้เข้ากัน
ห่อแล้วนึ่ง
๘. กริยา + นาม
บังตา
เครื่องบังประตูทำด้วยไม้หรือกระจก
ความสูงเหนือระดับสายตา
๙. บุพบท + นาม
ในหลวง
พระเจ้าแผ่นดิน
ใต้เท้า
สรรพนามบุรุษที่
๒ แทนผู้ที่นับถืออย่างสูง
คำประสมที่เป็นกริยา
๑. กริยา + กริยา
ซักแห้ง
ทำความสะอาดเสื้อผ้าวิธีหนึ่งด้วยสารเคมี
เป็นต่อ
มีโอกาสดีกว่าในการต่อสู้หรือการแข่งขัน
๒. กริยา + นาม
ยกเมฆ
พูดให้น่าเชื่อโดยคิดสร้างหลักฐานประกอบขึ้นมาเอง
ขายเสียง
ยินยอมลงคะแนนเสียงให้บุคคลใดบุคคลหนึ่ง
เพื่อแลกกับสิ่งของ
และเงิน ; มีอาชีพเป็นนักร้อง
๓. กริยา + นาม + กริยา
ตีบทแตก
แสดงได้สมบทบาท
๔. กริยา + บุพบท
เป็นกลาง
ไม่เข้าข้างใดข้างหนึ่ง
๕. กริยา + บุพบท + นาม
กินตามน้ำ
โกงกินร่วมไปกับผู้อื่น ทั้ง
ๆที่อาจจะไม่มีเจตนาโกงกินแต่แรก
๖. นาม – กริยา
ตาแข็ง
ไม่ง่วง
หัวอ่อน
ว่าง่าย, ยอมตามง่าย
๗. นาม + กริยา + นาม
น้ำท่วมปาก
พูดไม่ออกเพราะเกรงจะมีภัยแก่ตนหรือผู้อื่น
ความหมายของคำประสม
คำประสมมีความหมาย ๓ ลักษณะ คือ
๑. มีความหมายใกล้เคียงกับหน่วยคำเดิมที่มาประกอบกัน
๒. มีความหมายเฉพาะ ซึ่งแตกต่างจากความหมายของหน่วยคำเดิม
๓. มีความหมายเปรียบเทียบ
มีความหมายใกล้เคียงกับหน่วยคำเดิมที่มาประกอบกัน
เช่น
งูพิษ
งูประเภทหนึ่งที่มีพิษ
ยางลบ
ยางที่ใช้ลบข้อความ
มีความหมายเฉพาะ
ซึ่งแตกต่างจากความหมายของหน่วยคำเดิม
เมื่อนำคำมารวมกันแล้วมีความหมายซึ่งต้องขยายความ
เช่น
หน้าอ่อน
ดูอายุน้อยกว่าอายุจริง
ห่อหมก
ชื่ออาหาร
ใช้เนื้อปลาผสมกับน้ำพริกและกะทิกวนให้เข้ากัน
ห่อแล้วนึ่ง
มีความหมายเปรียบเทียบ
เช่น
หมาวัด
ผู้ชายที่มีศักดิ์ต่ำกว่าผู้หญิงที่ตนหมายปอง
ไข่แดง
ผู้ชายที่เด่นอยู่ท่ามกลางผู้หญิง
คำประสมบางคำอาจจะมีความหมายเป็น
๒ อย่าง เช่น ความหมายเปรียบเทียบ
กับความหมายใกล้เคียงกับคำเดิม หรือความหมายใกล้เคียงกับคำเดิมกับความหมายเฉพาะ
เช่น
หมาวัด
หมายถึง
หมาที่อาศัยอยู่ในวัด
ความหมายใกล้เคียงกับคำเดิม
หมาวัด
หมายถึง
ชายที่มีศักดิ์ต่ำกว่าหญิงที่ตนหมายปอง
ความหมายเปรียบเทียบ
ไข่แดง
หมายถึง
ส่วนประกอบของไข่ที่มีสีเหลืองหรือสีแดง
ความหมายเฉพาะ
ไข่แดง
หมายถึง
ผู้ชายที่เด่นอยู่ท่ามกลางผู้หญิง
ความหมายเปรียบเทียบ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น